“ถ้าเราจะแฮ็กกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet) ด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กันนะ ?!?”

กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) คือที่เก็บคีย์ส่วนตัวที่จำเป็นในการเข้าถึงและจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ และเนื่องจากมูลค่าของบิตคอยน์มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความปลอดภัยของกระเป๋าเงินเหล่านี้จึงมีความสำคัญมากขึ้น หนึ่งในข้อกังวลที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ถือครองบิตคอยน์คือ โอกาสที่กระเป๋าเงินจะถูกแฮ็ก!! 

แล้วถ้าใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แฮ็กกระเป๋าเงินดิจิทัล ทำได้ไหม? ใช้เวลาเท่าไร?

หากคำนวณจากซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ณ ปี 2021 คือ “Fugaku” ซึ่งพัฒนาโดยริเก้น (RIKEN) และ ฟูจิตสึ (Fujitsu) ประเทศญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพสูงสุดทางทฤษฎีที่ 1 เอ็กซาฟล็อป ซึ่งหมายความว่าสามารถดำเนินการกับจุดลอยตัวได้หนึ่งล้านล้านต่อวินาที นั่นคือ Fugaku เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในปี 2010 ถึง 100 เท่า

แม้จะมีพลังการประมวลผลที่เหลือเชื่อ แต่การแฮ็กกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้นไม่ง่ายเหมือนการคำนวณ เพราะความปลอดภัยของกระเป๋าเงิน ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของคีย์ส่วนตัว (Private Key) ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้อัลกอริทึม (Algorithm) ทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ซึ่งความยาวและความซับซ้อนของ Private Key จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดระยะเวลาที่จะแฮ็กกระเป๋าเงิน

ด้วยสมมุติฐานที่ Private Key ถูกสร้างขึ้นแบบสุ่มและไม่มีจุดอ่อนที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และสมมุติว่า Fugaku สามารถทดสอบคีย์ส่วนตัวได้ 100 ล้านล้านคีย์ต่อวินาที ซึ่งเป็นการประมาณการในแง่ดี ก็จะยังคงใช้เวลาประมาณ 13,800 ล้านปี

นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand คอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อยากเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ชักชวนให้คนที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลหันมาเก็บ Digital Asset ของตนไว้ใน Wallet ไม่เพียงแค่บิตคอยน์เท่านั้น เหรียญใด ๆ ก็สามารถเก็บใน Wallet ได้ นักลงทุนสายคริปโทฯ ควรเรียนรู้วิธีการใช้งาน Wallet ให้คล่อง ไม่ควรเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดไว้บน Exchange ตามคำกล่าวที่ว่า “ไม่ควรเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว”   

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระเป๋าเงินดิจิทัลยังคงเป็นวิธีจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค่อนข้างปลอดภัย และในโลกคริปโทฯ เองก็ยังมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมายให้เลือกใช้ (Custody) แต่ “ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในประเทศไทยยังไม่มี!! ดังนั้นการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเอง ด้วยตนเองก็ยังคงเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด..