ไขคำตอบ “ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23” พุ่งเฉียดโลก 10 สิงหานี้ ทำโลกแตกหรือไม่

จากกรณี องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า ออกมาเตือนว่า ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 570 เมตร มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของตึกเดอะชาร์ด ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดของทวีปยุโรป จะพุ่งเฉียดโลกในระยะห่างราว 7.4 ล้านกิโลเมตร ด้วยอัตราเร็วกว่า 16,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ซึ่งทางนาซ่าถือว่าเป็นระยะที่ มีโอกาสเกิดอันตรายต่อโลก

ทำให้ทั่วโลกเกิดความวิตกกังวล จนเกิดเป็นกระแสข่าวลือสะพัดไปทั่วว่า ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 จะพุ่งชนโลก ในวันที่ 10 สิงหาคม ล่าสุด นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า การเฉียดเข้ามาใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 นี้ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 นี้ จะมีระยะห่างจากโลกประมาณ 19 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือประมาณ 7.3 ล้านกิโลเมตร มีความเร็วประมาณ 16,740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นวัตถุใกล้โลกเนื่องจากอยู่ในระยะห่างที่นักดาราศาสตร์นิยามไว้ คือใกล้โลกน้อยกว่า 195 ล้านกิโลเมตร

แต่อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 ยังไม่จัดว่าเป็นภัยต่อโลก เนื่องจากยังอยู่ในระยะที่ห่างไกลจากโลกมาก นาซ่าและนักดาราศาสตร์ทั่วโลกแค่เฝ้าติดตามสถานการณ์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะศึกษาในระยะใกล้ๆ เพราะดาวเคราะห์น้อยเก็บข้อมูลได้ยาก เนื่องจากไม่มีแสงสว่างในตัวของเองการถ่ายภาพจึงทำได้ยาก แต่เมื่อเฉียดเข้ามาใกล้โลกครั้งนี้กล้องโทรทัศน์บนโลกก็จะสามารถบันทึกภาพของมันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เห็นรูปร่างและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลส่วนประกอบได้

เครดิต ภาพ : WC Daily

สั่งซื้อ Kazz Magazine เล่ม 157 ได้ที่