สสส.จับมือ มสส.จัดเวทีถกผลสำรวจสุขภาวะสื่อไทย พบสูบบุหรี่น้อยลง มีถึง 94%ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ คิดจะเลิกสูบเลิกดื่มแต่ใจไม่แข็งพอ หนุนองค์กรสื่อจัดตรวจสุขภาพ 100 % ส่วน ทั้งสสส.และ มสส.พร้อมร่วมทำงาน ด้านคอลัมนิสต์อาวุโสเสนอสำรวจสุขภาวะอาชีพอื่นเปรียบเทียบ เรียกร้องให้ธุรกิจสื่อใส่ใจสุขภาวะของคนทำงานด้วย
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ป “สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ในกระแสความเปลี่ยนแปลง” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ รัชดา โดยมี นางสาวศิริวรรณ นพรัตน์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ เอฟเอ็ม102.5 MHz เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส.กล่าวเปิดการประชุมว่า สื่อมวลชนถือเป็นอีกภาคีเครือข่ายที่ สสส. เห็นถึงความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทในการให้ความรู้ รณรงค์ประเด็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ดังนั้น สสส. จึงได้สนับสนุนมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ให้ดำเนินงานรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งมีสื่อมวลชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และสะท้อนมุมมองของสื่อมวลชนต่อบทบาทการเป็นผู้ชี้นำสังคมสุขภาวะและร่วมลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่และสุรา พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและครอบครัว ซึ่ง มสส.ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้นทั้งการจัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในประเด็นสุขภาวะที่สำคัญ การผลิตและเผยแพร่ข่าวกิจกรรมโครงการผ่านสื่อมวลชน การผลักดันให้สื่อมวลชนร่วมรณรงค์ประเด็นสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกองค์กร การค้นหาสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนต้นแบบโดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้นหาสื่อมวลชนที่ต้องการลดการสูบบุหรี่ และการผลิตสื่อรณรงค์ในรูปแบบ คลิปวีดีโอ เพลง และมิวสิควีดีโอที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาวะด้วย
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) แถลงผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพของสื่อมวลชน โดยการจัดส่งแบบสอบถามไปยังกองบรรณาธิการสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและออนไลน์ 8 องค์กร รวม 160 ชุด ผลการสำรวจพบว่าสุขภาพส่วนใหญ่ 78.4 % ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก 21.6% มีโรคประจำตัว โรคที่เป็นมากที่สุดคือภูมิแพ้ รองลงมาคือไวรัสตับอักเสบบี เกาต์และโรคข้อ ส่วนใหญ่ 74.5% มีการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนอีก25.5% ไม่ได้ตรวจ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาและไม่ได้มีอาการป่วยอะไร เลยไม่ตรวจ ขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 66.7% มีการออกกำลังกาย ส่วนอีก 33.3% ไม่ออกกำลังกายส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่เหมาะสมและขี้เกียจ
ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เรื่องการสูบบุหรี่ซอง สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 74.5% ไม่สูบบุหรี่ อีก 25.5 % สูบหรือเคยสูบ เหตุผลที่ไม่สูบส่วนใหญ่ 39.3% ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ รองลงมา 37.7% เห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความถี่ในการสูบส่วนใหญ่ 38.5% สูบ 2-3 สัปดาห์ต่อซอง รองลงมา 15.4% สูบ 2-3 วันต่อซอง ที่น่าสนใจส่วนใหญ่มากถึง 76.92% คิดที่จะเลิกสูบ เพราะต้องการให้สุขภาพดี รองลงมาจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถามว่าแล้วเลิกสูบบุหรี่ สำเร็จหรือไม่คำตอบที่ได้คือเลิกได้กับเลิกไม่ได้ คิดเป็น 50% เท่ากัน สาเหตุสำคัญที่เลิกไม่สำเร็จคือใจไม่แข็งพอ ส่วนคนที่เลิกสำเร็จ 60% บอกว่าเพราะ เป็นความตั้งใจของตนเองที่จะเลิก ที่น่าสนใจคือสื่อส่วนใหญ่ 94.12% ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เหตุผลเพราะรู้ว่าผิดกฎหมาย รองลงมาคือคนในครอบครัวไม่สูบ, เคยสูบแล้วปอดชื้น ส่วนคนที่สูบให้เหตุผลว่าไม่ต้องหาที่ ทิ้งก้นบุหรี่และเข้าใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 62.8% ยังดื่มอยู่ ความถี่ในการดื่มนั้น 53.8% ดื่ม เดือนละครั้ง รองลงมาดื่มสัปดาห์ละครั้งและนานๆครั้ง สถานที่ที่ดื่มส่วนใหญ่ดื่มที่บ้านตัวเอง รองลงมาดื่มที่ร้านอาหาร และดื่มที่บ้านเพื่อน คำถามสำคัญคือคิดจะเลิกดื่มหรือไม่ส่วนใหญ่ 71.88% ไม่คิดจะเลิกดื่มเพราะดื่มปริมาณน้อย, ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ส่วนคนที่คิดจะเลิกดื่มมีถึง66.7%ที่เลิกไม่สำเร็จเพราะยังไม่ชนะใจตัวเอง ด้านการพนันส่วนใหญ่ 64.7% ไม่เคยเล่นการพนัน แต่มีถึง 35.3% เคยเล่นการพนัน และมีถึง 51.9% ซื้อลอตเตอรี่เพราะมองว่าไม่ผิดกฎหมายไม่ใช่การพนันรองลงมาคือหวยใต้ดิน ส่วนการเกิดอุบัตินั้นส่วนใหญ่ 80.4%ไม่เคยประสบอุบัติเหตุ คนที่เคยเกิดอุบัติเหตุสาเหตุหลักมาจากขับรถด้วยความเร็ว ตามด้วยผู้ใช้รถร่วมทางประมาท
นายอภิวัชร์ได้สรุปปิดท้ายว่า จากข้อมูลที่ได้ จึงมีข้อเสนอถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนด้วยกันคือ หนึ่ง ข้อเสนอในการทำงานกับองค์กรสื่อมวลชน ควรรณรงค์ให้องค์กรสื่อมวลชนกำหนดให้เป็นนโยบาย หรือมาตรการองค์กรในการตรวจสุขภาพประจำปีที่จัดให้พนักงานทุกคน ควรจะจัดให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย การแก้ปัญหาโรคภูมิแพ้ การมีมาตรการองค์กร การรณรงค์ และหากสื่อต้องการเลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์จะเติมเทคนิคเอาชนะใจตัวเองได้อย่างไร รวมทั้งการรณรงค์เรื่องการพนันและอุบัติเหตุด้วย สอง ข้อเสนอในการทำงานกับกองบรรณาธิการสื่อทั้ง 4 ประเภท โดยเสนอให้เข้าร่วมกิจกรรมของภาคี ร่วมสื่อสารสาธารณะ รณรงค์และขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะในทุกระดับ และสามคือ ข้อเสนอต่อภาคีและ สสส.ด้วยการสื่อสารอย่างใกล้ชิดทันท่วงทีหรือยามที่ต้องการข้อมูลหรือองค์กรไปหนุนเสริม รวมทั้งจัดการประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างแกนนำและสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะในทุกมิติซึ่ง มสส.พร้อมเป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกัน
ด้านนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ คอลัมนิสต์อาวุโส รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าผลการสำรวจทำให้เรารู้ความจริงว่าการที่เราไม่ตรวจสุขภาพประจำปีเพราะเห็นว่ายังไม่เป็นโรคอะไร การไม่ออกกำลังกายโดยอ้างว่าไม่มีเวลา หรือการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์แล้วอยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้เพราะใจไม่แข็งพอสื่อเองก็รู้ตัวเองแต่คำถามคือทำไมถึงทำไม่ได้ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่กระทบกับสื่อมวลชน ผลสำรวจครั้งนี้ระบุชัดว่าสื่อมวลชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นสื่อออนไลน์ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง แข่งกันที่ความเร็วเป็นหลัก จึงเกิดคำถามว่าเป็นปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาวะของสื่อมวลชนมากกว่าสื่อยุคเก่าหรือไม่ จึงอยากเสนอว่านอกจากการสำรวจปัญหาสุขภาวะทางกายแล้ว อยากให้เพิ่มการสำรวจสุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางปัญญาด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชนควรจะต้องสร้างปัญญาให้กับสังคม อย่างเช่นการนำเสนอข่าวสาร ก็ควรนำเสนอข่าวสารในเชิงสืบสวน สอบสวน ค้นหาสาเหตุของปัญหา และอยากจะให้สอบถามสื่อมวลชนเหมือนกันว่า “นิยามของคำว่าความสุข คืออะไร” นอกจากนี้อยากเสนอให้มีการสำรวจสุขภาวะของอาชีพอื่นๆด้วย