วัยรุ่นจ๊ะลองเช็คดู…เป็นโรคนี้อยู่รึเปล่า!
“โรคขาดมือถือไม่ได้” และ “โรคซึมเศร้า”
ทุกวันนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “Social Media” ได้เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยตลอดเกือบ 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ทั้งใช้เพื่ออัปสเตตัสส่วนตัว ศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปจนกระทั่งถึงติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม
แต่การใช้สื่อโซเชียลหรือสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ facebook Instagram และ Twitter มากจนเกินความพอดีหรือเล่นตลอดเวลาจนรู้สึกติดนั้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรและจะส่งผลกระทบร้ายแรงกับเราอย่างไรบ้างนั้้นมาดูกัน…
อาการของคนที่ติดโซเชียลมีเดีย
- ใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
- รู้สึกอยากจะตรวจสอบโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตหรือตลอดเวลา
- รู้สึกกังวลกระวนกระวายใจเมื่อไม่ได้เชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย
- เล่นมือถือตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนที่นั่งกินข้าวอยู่กับเพื่อน
- แชร์หรืออัปสเตตัสบ่อยๆ วันละหลายครั้งเพื่อเรียกร้องความสนใจหรืออยากได้รับการยอมรับ
- ใช้เวลาเล่นมือถือมากจนการเรียนหรือประสิทธิภาพในการทำงานลดต่ำลง
- นอนดึกเพราะมัวแต่เสียเวลาหมดไปกับการสไลด์โทรศัพท์
ติดโซเชียลมากๆ ส่งผลทำให้เป็น “โรคซึมเศร้า และ “โรคขาดมือถือไม่ได้”
กลุ่มคนที่ติดโซเชียลแบบติดหนึบต้องการยอมรับจากโลกออนไลน์ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองที่พอใจก็เกิดความทุกข์นั้นอาจเข้าข่ายเป็น “โรคซึมเศร้า” จากการเล่นเฟซบุ๊ค และ “โรคขาดมือถือไม่ได้” หรือ “โรคโมโนโฟเบีย” จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง อาการที่พบก็อย่างเช่น ถ้าหากเราอยู่ในที่ปราศจากสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ก็รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวาย ซึ่งในบางคนที่มีอาการมากๆ อาจถึงขั้นมีอาการเครียดขึ้นมา นอกจากนี้การติดโซเชียลยังส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบในเชิงต่อต้านด้วย อาทิ ความต้องการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ ในสังคม และมีอาการ ”เสพติด” กล่าวคือรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจเมื่อไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์
วิธีบำบัดให้หายจากอาการติดโซเชียลมีเดีย
- กำหนดเวลาในการใช้งาน โดยเริ่มจากการจับเวลาพฤติกรรมการใช้งาน Social Media ในแต่ละวันก่อน ว่าใช้เวลาเท่าไร หลังจากนั้นค่อยตั้งเป้าหมายในการใช้เวลาแต่ละครั้งให้ลดลง ก่อนใช้งานลองชำเลืองเวลาที่ใช้จดลงกระดาษ
- ให้คนรอบข้างเป็นคนช่วยประกาศบอกออกไปให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่ากำลังจะลดการใช้งาน Social Media
- กำหนดบทลงโทษเอาไว้ หากละเลยหรือใช้งานเกินที่กำหนดจะได้ลงโทษตัวเอง
- ปิดระบบเตือน หลายครั้งที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเพราะมีระบบเตือน ดังนั้นการปิดระบบเตือน หรือตั้งเวลาเปิดปิดโทรศัพท์ จะช่วยลดการเข้าถึงอุปกรณ์พกพาได้ดีขึ้น
- หากิจกรรมอย่างอื่นทำทดแทน เช่น ไปออกกำลังกาย ฝึกเล่นเครื่องดนตรี หรือหางานอดิเรกที่ชอบอย่างอื่นทำ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองใช้ Social Media มากเกินไป
ข้อมูลจาก : scalar.usc.edu, fastcompany.com
รูปจาก : unsplash.com
สั่งซื้อ Kazz Magazine เล่ม 149 ฉบับเดือน พฤศจิกายน
หรือดาวน์โหลด E-Book