การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันและความกดดันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเผชิญกับความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง รวมไปถึงบั่นทอนสุขภาพกายและใจ และยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานอย่าง “โรคไมเกรน” โรคที่ไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไปอย่างที่ทุกคนคิด แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งการมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้องจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้ยิ่งขึ้น
ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าทุกวันนี้ ‘โรคไมเกรน’ เป็นเทรนด์โรคทางสมองที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนทำงานที่เผชิญกับสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียดสูง การนอนผิดเวลา การเดินทางที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวน ในทุกสังคมทั่วโลก โดยจะพบผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 30 ปี มากที่สุดและมักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ด้วย 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคคือ ร้อยละ 10 – 20 สืบเนื่องมาจากพันธุกรรมที่มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นไมเกรนอยู่แล้ว และกว่าร้อยละ 80 – 90 เกิดจากพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมที่สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้การรับรู้สึกถึงระบบประสาทเกิดความเปลี่ยนแปลงไวกว่าคนปกติ (Hypersensitivity) เช่น ความเครียด ฮอร์โมน การพักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ความไวต่อแสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุน ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นชั้นยอดต่ออาการปวดศีรษะ รวมไปถึงการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเลวร้ายมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้โรคไมเกรนยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิดง่าย ซึ่งหากยิ่งซ้ำเติมจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก โดยระยะของโรคไมเกรน สามารถจำแนกได้ด้วยระดับความปวดศรีษะของโรคไมเกรนจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะนำ (Prodrome) คือการบอกเหตุก่อนเริ่มมีอาการปวดศีรษะประมาณ 1-2 วัน โดยผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสมองที่ควบคุมร่างกาย เช่น ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมและความอยากอาหารมากกว่าปกติ
- ระยะอาการเตือน (Aura) คือการเตือนก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ ประมาณ 5-60 นาที แต่จะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกคน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มองเห็นแสงกระพริบ ๆ แสงซิกแซก มองเห็นเป็นเส้นคลื่น หรืออาการที่เกิดจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า การพูดลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อย ๆ เริ่มเกิดขึ้น และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้หากมีหลายอาการ
- ระยะปวดศีรษะ (Headache) คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีอาการปวดแบบตุบ ๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น มักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยบางรายอาจไวต่อแสงหรือเสียงดัง ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนาน 4-72 ชั่วโมง
- ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Resolution) หรือระยะพัก คืออาการปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ จะค่อย ๆ ลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกินระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากหายปวดศีรษะ
อีกทั้งอาการปวดยังสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยตามระยะการดำเนินของโรคไมเกรนได้อีก 2 กลุ่มได้แก่ การเกิดไมเกรนเป็นครั้งคราว คืออาการผู้ป่วยธรรมดาทั่วไปจะปวดน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า การเกิดไมเกรนแบบเรื้อรัง คือ อาการปวดนานมากกว่าหรือเท่ากับ 15 วันต่อเดือน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องพิจารณาตนเอง หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอาการมากที่สุด
ดังนั้นทางการแพทย์แผนปัจจุบันการรักษาไมเกรนให้หายขาดยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ซึ่งจุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ไม่ว่าจะด้วยการรักษาทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา หรือป้องกันอาการด้วยการหลีกเลียงจากสิ่งเร้า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกข์ทรมานจากความปวดน้อยลง และประกอบกิจวัตรต่าง ๆ ทำงานได้ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปวดเรื้อรัง คือหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา นอนหลับให้เพียงพอประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติ ต่าง ๆ อีกทั้งหากผู้ป่วยมีอาการมากกว่าปวดศีรษะจนผิดสังเกต เช่น มีไข้สูง ตาเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แบบนี้ไม่ใช่ไมเกรนแน่ ๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาการปวดศีรษะชนิดที่แปลกออกไปแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน เช่น ปวดต่อเนื่องยาวนานไม่ดีขึ้นแม้ใช้ยา แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ออก ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนอย่าปล่อยทิ้งไว้